Author : Visan Joysoongnoen
(Information Scientist & IT Administration)
1. ปัญหาของการ Comment หรือการโพส
1.1 เราไม่สามารถทราบได้ว่าผู้เขียน Comment หรือข้อคิดเห็นคือใคร อายุเท่าใด มีวุฒิภาวะอย่างไร มีความรู้ทางการศึกษาระดับใด
จึงอาจทำให้เราใช้วิจารณญาณไม่เพียงพอในการเชื่อข้อคิดเห็นที่ด้อยคุณภาพ ยกตัวอย่าง ข้อคิดเห็นในเรื่องอาชญากรรม แต่ผู้ตอบกลับเป็นเด็กที่ไม่รู้ข้อกฎหมาย ก็อาจทำให้ผู้อ่านคิดว่าเป็น comment ของผู้เชี่ยวชาญ โดยไม่รู้ว่าแท้จริงคือเด็กเป็นผู้ comment ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาได้อีกอย่างหนึ่ง อันเนื่องจากผู้เขียนขาดวิจารณญาณและวุฒิภาวะ เมื่อผู้ที่มีประสบการณ์และความรู้มากกว่าได้เข้ามาอ่านก็จะทำให้เกิดการโต้แย้งขึ้นบ่อยครั้ง
1.2 จำนวนคนที่ comment ไปในทางเดียวกันมากๆไม่ได้บ่งชี้ว่าสิ่งนั้นถูกต้อง
บางคนอาจคิดว่าหากคนส่วนมาก comment ไปในแนวทางใด แนวทางนั้นต้องถูก ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไขว้เขว เพราะหลายเรื่องควรพิจารณาด้วยเหตุผล เช่นทางวิทยาศาสตร์ จริยธรรม กฎหมาย หลักฐาน หรือหลักวิชาที่เกี่ยวข้องเป็นหลัก มากกว่าการวัดความถูกผิดด้วยจำนวนข้อคิดเห็น หรือ โพลที่ไม่ได้ทำอย่างถูกหลักวิชาการ
อีกประการหนึ่งคือ Social media สามารถสร้าง Channel, เพจ หรือกลุ่มที่รวมเฉพาะคนที่มีความเห็นไปแนวเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นกับดักสารสนเทศในโลก cyber ที่เมื่อเราได้เขาไปในกลุ่มใด ก็มักจะมีคนที่ comment เฉพาะในแนวทางของกลุ่มนั้นเท่านั้น แต่จะไม่เห็นข้อคิดที่แตกต่าง เพราะพฤติกรรมกลุ่มของคนมักไม่กล้าแสดงความแตกต่าง เพราะต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่อไป ลักษณะเช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่ไม่รู้เท่าทันสารสนเทศใน social media เกิดความเข้าใจผิดว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นมีความคิดตาม comment ที่เห็นเพียงเท่านั้น
1.3 เราไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ Comment หรือโพส เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับเรื่องราวหรือ Content นั้นหรือไม่ ซึ่งอาจได้ข้อสรุปที่ไม่เป็นกลาง
โดยทั่วไปผู้ที่มีส่วนเสียมักจะ Comment ในทางลบเท่านั้น แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์มักจะไม่เข้ามา Comment จึงอาจทำให้เข้าใจไข้วเขวว่าสังคมส่วนใหญ่คิดไปทางเดียวกับผู้ Comment ส่วนใหญ่ที่เห็นนั้นจริงๆ จึงอาจทำให้เกิดความเชื่อในการดำเนินชีวิตที่ผิด และนอกจากนี้ผู้มีส่วนเสียอาจสร้างข้อมูลเท็จขึ้นมาเพื่อให้เป็นผลดีกับตนเองได้
1.4 ผู้ Comment ใช้ถ้อยคำหยาบคาย หรือหมิ่นประมาท
เนื่องจาก Profile ต่างๆทุกคนสามารถสร้างขึ้นได้ตลอดเวลา และไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนจริงจึงอาจชะล่าใจที่จะพิมพ์ข้อความต่างๆลงไป ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายที่สามารถเอาผิดด้านการหมิ่นประมาท หรือข้อมูลเท็จในส่วนของ พรบ.คอมพิวเตอร์ได้ เพียงแต่ยังไม่ค่อยมีผู้ใช้งานที่ถูกละเมิดไปฟ้องร้องทางกฎหมายมากมายนัก จึงอาจไม่ค่อยมีตัวอย่างของการดำเนินคดีหมิ่นประมาทในทางออนไลน์ให้เห็น ซึ่งผู้ใช้งานสื่อ Social ควรมีความระมัดระวังในการกล่าวหาผู้อื่นทั้งการโพส และ Comment เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศสามารถสืบหาตัวตนได้ และในอนาคตจะเห็นการฟ้องร้องมากขึ้น
นอกจากนี้การเผยแพร่ภาพบางอย่าง หรือข้อมูลของผู้อื่น อาจผิด พรบ.ข้อมูลส่วนบุคคลได้อีกด้วย
1.5 ผู้ Comment คนแรกๆของโพส มักจะมีอิทธิพลทางความคิดกับผู้ที่มา Comment คนหลังๆ
ในบางครั้งคนที่มา Comment หลังๆบางคนต้องดูแนวโน้มของกลุ่มผู้ให้ความคิดเห็นคนแรกๆเสียก่อนที่จะเลือกแนวทางการเขียน มิเช่นนั้นอาจถูกวิจารณ์ได้ว่าแปลกแยก เพราะโดยทั้วไปคนเราไม่ต้องการแปลกแยกจากสังคม ซึ่งในกรณีนี้อาจทำให้ผู้ที่เข้ามาอ่าน Comment รวมทั้งหมดเข้าใจไขว้เขวว่าคนในสังคมส่วนใหญ่มีความคิดเช่นนั้นจริงๆ เพียงเพราะเห็นแนวโน้มจำนวนผู้ Comment ว่าไปในทิศทางใดที่มากที่สุด
2. ปัญหาหลักของเนื้อหา (Content)
2.1 มีการคัดลอกหรือดัดแปลงเนื้อหามานำเสนอซ้ำซาก ทำให้ผู้ใช้เบื่อหน่าย และทำให้สารสนเทศในภาษานั้นเต็มไปด้วยสารสนเทศด้อยคุณภาพ และจะเป็นผลเสียต่อผู้ค้นหาสารสนเทศในยุคหลัง และอาจเป็นปัญหาของประเทศในอนาคต
2.2 ผลทางด้านจิตวิทยาของภาพกราฟฟิก หรือ VDO ที่สวยงาม รวมถึงจำนวนผู้ติดตามที่มาก อาจทำให้ผู้ชมคล้อยตามได้ทั้งที่เนื้อหาอาจเป็นเท็จ
2.3 ผู้สร้างเนื้อหาไม่ระบุตัวตน ซึ่งเป็นปัญหาด้านคุณค่าสารสนเทศ เพราะผู้เขียนไม่แสดงความรับผิดชอบต่อเนื้อหา จึงอาจเป็นข้อมูลเท็จ หรือทำให้คนหลงเข้าใจว่าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ
2.4 ผู้สร้างเนื้อหาไม่ระบุแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่ตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส หรือไม่ใส่หมายเหตุเพื่อแสดงข้อความให้ผู้อื่นอย่าลืมนึกถึงแง่มุมอื่นๆนอกจากแง่มุมที่ตนเขียนขึ้น
ข้อมูลบางเรื่องมีความอ่อนไหวมาก เช่น ข้อมูลทางการแพทย์ สุขภาพ หรือเหตุการณ์ที่มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่โดยตรง อาจถูกนำเสนออย่างลวกๆเพียงเพื่อหวังผลให้เกิดชื่อเสียงต่อผู้โพสว่าเป็นคนแรกที่นำเสนอเรื่องนั้นก่อนใคร จึงขาดการคัดกรองเนื้อหา หรือไม่มีการให้แหล่งอ้างอิง ที่มา หรือมีการให้แหล่งอ้างอิงแต่กลับเป็นแหล่งอ้างอิงที่ไม่น่าเชื่อถือ
2.5 มีการใช้หัวข้อหรือพาดหัวที่ไม่ตรงกับเนื้อหา หวังให้เกิดความแตกตื่น เพื่อให้เกิดการแชร์มากๆ หรือกระตุ้นการคลิกไปที่เว็บปลายทางที่มีเนื้อหาที่ด้อยคุณค่าและยังมีแบนเนอร์โฆษณาเกินจริงแฝงอยู่ด้วย
2.6 มีการใช้รูปปลอมเป็น profile ประจำตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำภาพผู้อื่นไปเป็นภาพตนเองเพื่อก่ออาชญากรรม
2.7 มีการสร้างเนื้อหาที่เป็นข่าวสาร มากกว่าความรู้ที่เป็นประโยชน์ระยะยาว ซึ่งเราจะพบว่าในโลกออนไลน์ไม่ใช่เฉพาะ Social media เท่านั้นที่มีการสร้างสารสนเทศเกี่ยวกับพฤติกรรมของบุคคลและสถานการณ์ค่อนข้างมาก ซึ่งสารสนเทศเหล่านี้เป็นสารสนเทศที่ที่ไม่ยั่งยืนทางคุณค่า และเป็นสารสนเทศเฉพาะกาล เพราะเมื่อเวลาผ่านไปหลายๆปี บุคคลในกระแสเวลานี้ก็อาจหมดความน่าสนใจไปแล้ว ซึ่งจะทำให้สารสนเทศที่ถูกสร้างขึ้นนั้นไม่เป็นที่ต้องการของคนในอนาคตอีกต่อไป
เราพบว่าสารสนเทศหรือ Content ที่เป็นความรู้มักไม่ถูกสร้างขึ้น ทั้งๆที่เป็นสิ่งที่ยั่งยืนและจะเป็นที่ต้องการของการค้นหาตลอดไป เช่น วิธีประดิษฐ์ วิธีใช้งาน วิธีปลูกพืช วิธีเลี้ยงสัตว์ วิธีคิดคำนวณ วิธีพัฒนา เทคนิคทางธุรกิจ สุขภาพ การถาม-ตอบปัญหา ฯลฯ นอกจากนี้สารสนเทศที่ยั่งยืนยังสามารถกลายเป็นทรัพย์สินดิจิทัลมูลค่าสูง ซึ่งนำมาทำการตลาดได้ยาวนานกว่าสารสนเทศเฉพาะกาล เช่นการฝังโฆษณา, Banner, ตราสินค้า, ลิ้งขายสินค้าที่มีส่วนแบ่งค่า Commision ลงไปในเนื้อหาเหล่านั้น ซึ่งทำให้เนื้อหาที่เราสร้างขึ้นกลายเป็นอสังหาริมทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ต้องอัพเดทบ่อยๆแต่ก็มีความน่าสนใจไปอีกนาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้แบบ Passive income ได้ในระยะยาว
2.8 ผู้ใช้งาน Social Media ควรตระหนักว่าหน้าเพจหรือ Profile ที่ตนเป็นเจ้าของนั้นเปรียบเสมือนเป็นเว็บเพจสาธารณะ การโพสภาพใดๆของตนนั้นอาจถูก Copy ไปใช้ทางมิชอบด้วยกฎหมาย และควรตระหนักว่าภาพและข้อมูลนั้นจะถูกเปิดเผยอย่างกว้างขวางจึงควรสอบทวนก่อนว่าเป็นความลับหรือไม่
2.9 Social Media หลายช่องทางถูกสรา้งขึ้นเพื่อให้เจ้าของ Profile เปิดเผยตัวตนต่อสาธารณะหากเราไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูลต่อบุคคลที่เราไม่ชอบอาจจะเป็นเรื่องยาก การปิดกั้นอาจไม่ได้ผล เพราะผู้ใช้งานรายอื่นสามารถกลับมาค้นหาคุณได้โดยใช้ Profile ใหม่ หรือค้นหาคุณจากบุคคลที่เป็นเพื่อนของคุณ หรือใช้ข้อมูล-สารสนเทศที่เขาจำได้ว่าเกี่ยวกับเราในการค้นหาตัวเราและติดตามเราในชื่อของคนอื่นๆต่อไป
2.10 ผู้ติดตาม หรือเฝ้าดู Profile/Channel คุณอยู่อาจเป็นอาชญากร เขาจะสามารถรู้ความเคลื่อนไหวของเราได้ จึงควรระมัดระวังการเปิดเผยตำแหน่ง สถานที่ ทรัพย์สินที่มี หรือสถานภาพ เช่น การอยู่คนเดียว เส้นทางการเดินทาง สถานภาพทางการเงินหรือแหล่งเก็บทรัพย์สิน

3. ปัญหาด้านผู้ใช้งาน หรือติดตาม (User, Subscriber, Follower)
3.1 ใช้เวลาติดตามข้อมูลข่าวสารมากเกินกว่าประโยชน์ที่ได้รับ เช่นการใช้เวลาที่มีค่ากับการสนใจเรื่องการเมืองและข่าวสารประจำวัน หรืออ่านความคิดเห็นต่างๆมากกว่าการใช้เวลาแสวงหาความรู้หรือการพัฒนาตนเอง ซึ่งจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่า ตัวอย่างเนื้อหาที่ผู้ติดตามควรแบ่งเวลาความสนใจเพิ่มขึ้น เช่น ภาษา เกษตร ศาสนา บริหารธุรกิจ ไอที การพัฒนาอาชีพ DIY. สุขภาพ เป็นต้น
3.2 ใช้เวลาสนใจกับสื่อสันทนาการ มากกว่าความรู้
3.3 ใช้เวลากับข้อมูลที่ผู้สร้างไม่สามารถอ้างแห่ลงข้อมูลที่ตรวจสอบได้ หรือผู้สร้างเนื้อหาเป็นบุคคลนิรนาม ซึ่งอาจเป็นข้อมูลเท็จ
3.4 เมื่อผู้ติดตามพบปัญหาในชีวิตประจำวัน อาจใช้ช่องทาง Social Media ในการหาทางออก ซึ่งอาจเป็นช่องทางที่ผิดและไม่ได้รับการช่วยเหลือ เช่น การโพสปัญหาอาชญากรรมหรือขอความช่วยเหลือบางประเภทซึ่งหากติดต่อไปยังช่องทางของราชการอาจได้รับการช่วยเหลือที่ดีกว่า หรือมีผลทางกฎหมายมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นการถูกหลอกให้โอนเงิน เป็นต้น
3.5 การติดตามเนื้อหาที่ขัดแย้งกับตนเอง
บ่อยครั้งเราพบผู้ติดตามเนื้อหาที่เข้าเป็นสมาชิกกลุ่มที่ตนไม่เห็นด้วย เพื่อ Comment หรือแสดงตัวเป็นศัตรูทางความคิด ซึ่งเป้นการกระทำที่ผิด ถือเป็นการไม่เคารพพื้นที่กรรมสิทธิทาง Social ซึ่งกลุ่มต่างๆนั้นเปรียบเสมือนบ้าน ดังนั้นอย่ากระทำตนเป็นผู้บุกรุกเคหะสถานทางความคิด
อย่างไรก็ตามการเข้าไปในกลุ่มที่มีความเห็นต่างก็สามารถทำได้เพื่อให้เราเห็นแง่มุมที่หลากหลายของสังคม แต่ควรใช้ถ้อยคำที่สุภาพ ใช้ Emotional Logo ช่วยแสดงอารมณ์สุภาพ และแสดงความเห็นเริ่มด้วยหลักการและเหตุผลหรืออ้างอิงจากหลักวิชาใดๆก่อน
หากไม่มีความสุขที่จะรับรู้สารสนเทศในกลุ่มใดๆ ควรออกจากกลุ่ม และทำใจว่าบุคคลย่อมมีความหลากหลายตามธรรมชาติอันที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเขาได้ทุกคนบนโลกนี้ ถือเป็นธรรมชาติของสังคม
3.6 โลกออนไลน์สามารถค้นหาข้อมูลตรงความต้องการได้อย่างมหาศาล ส่งผลให้บุคคลใช้เวลาติดตามเนื้อหาที่ชอบไปเป็นเวลายาวนานและหลายช่องทางมากเกินไป จนทำให้เสียเวลากับสิ่งที่เป็นประโยชน์มากกว่า และหากเป็นการติดตามเรื่องราวเชิงลบเป็นจำนวนมากอาจมีผลด้านปัญหาทางจิตใจและอารมณ์ได้
3.7 การส่งต่อ (Share) เนื้อหาโดยไม่ระบุที่มา รวมถึงการไม่ให้ระบุชื่อผู้ให้ข้อมูลคนแรกสุด ที่เรามักเรียกว่าการให้ Credit ซึ่งกรณีนี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นด้านลิขสิทธิ์ด้วย
3.8 การส่งต่อหรือ (Share) เนื้อหาโดยไม่มีการสอบทวน ทำให้ข้อมูลเท็จขยายไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งส่งผลเสียต่อสังคม
3.9 ผู้ใช้งานมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากยุคเดิมที่มีเพียงวิทยุโทรทัศน์ คือผู้ใช้สามารถส่งต่อข่าวสารหรือประชาสัมพันธ์ด้วยตนเองได้ทันที และมักส่งต่อข่าวสารที่ตนเองไม่ชอบมากกว่าข่าวสารด้านบวก ส่งผลให้ Social Media มีส่วนขยายความขัดแย้งในสังคมได้ง่ายในเวลาอันสั้น เป็นผลเสียต่อสุขภาพจิต
3.10 ผู้ติดตามผู้เขียนรายใดที่มีความเชื่อถือในความคิดของผู้ติดตาม มักเชื่อถือข่าวสารของผู้เขียนทั้งหมด โดยไม่มีการทวนสอบข้อเท็จจริง หรือหลักฐาน
3.11 ผู้ใช้งาน Social Media ขาดความยั้งคิดในการ Comment หรือโพสเป็นปัญหาเช่นเดียวกับข้อ 1.4 เนื่องจากเป็นการพิมพ์ตัวอักษร ไม่มีการเผชิญหน้าหรือเห็นหน้าตา ผู้ใช้งานจึงมีความกล้าตอบโต้ด้วยถ้อยคำรุนแรง ทำให้สังคมและข้อมูลสารสนเทศบนโลกออนไลน์เต็มไปด้วยข้อความที่เลวร้าย หรือ Hate Speech ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพจิตของตนเอง สังคม และในอนาคตจะเกิดฐานข้อมูลขยะจำนวนมาก เป็นผลเสียในการค้นหาสารสนเทศและการนำไปอ้างอิงต่อ
4. ผลกระทบกับระบบการสรุปเหตุผล หรือ ตรรกะ
ข้อนี้เป็นส่วนที่สำคัญมาก แต่สรุปสั้นๆเป็นหลักการง่ายๆได้ดังนี้
เนื้อหาในสื่อออนไลน์ที่หามาได้ตรงความต้องการนั้นมีจำนวนมากจนท่วมท้นและมักจะซ้ำๆกัน และผู้อ่านมักติดตามเนื้อหาเฉพาะที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันกับตนเอง ส่งผลให้ผู้อ่านเนื้อหาใช้เวลาพิจารณาด้านเหตุผลน้อยไปเพราะเชื่อถือแนวทางของตนเองมาก จนอาจหลงผิดคิดว่าเรื่องราวที่สมเหตุสมผลต้องเป็นเรื่องจริงเสมอ ทั้งที่จริงแล้วเรื่องที่ผูกกันได้อย่างมีเหตุผลนั้นมีสิทธิ์ที่จะไม่ใช่เรื่องจริงก็ได้ ดังนั้นการดูเหตุผลหรือเหตุการณ์เพียงแค่ด้านความสอดคล้องอาจยังไม่ใช่ข้อสรุปของข้อเท็จจริง
“ ความสมเหตุสมผลสามารถแต่งขึ้นมาได้เสมอ ดังนั้นก่อนเชื่อสิ่งใดจึงควรพิจารณาตามหลักวิชาและหลักฐานเชิงประจักษ์มากกว่าการเชื่อถือคำบอกเล่าที่สมเหตุสมผล รวมทั้งต้องหาเหตุผลด้านตรงข้ามด้วยว่า ปรากฎการณ์ที่เห็นนั้นจะเกิดจากสาเหตุอันอื่นได้อีกกี่ประการ ” (อ้างอิง : Visan Joysoongnoen)
5. การตกเป็นเหยื่อของ Social Engineering

เป็นกลวิธีการหลอกลวง หลอกล่อผู้ใช้งานให้กรอกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ที่สำคัญ เช่นข้อมูลการเงิน รหัสผ่าน หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือชื่อจริง ที่อยู่จริง เพื่อนำข้อมูลไปรวมกันและปลอมตัวเป็นเราเองในการทำธุรกรรม และอื่นๆเช่น
5.1การหลอกลวงทางโทรศัพท์ หรือ Application ที่สามารถส่งข้อความหรือโทรได้ เช่น หลอกเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร หรือคนรู้จัก เพื่อขอข้อมูลหรือเงิน รวมไปถึงการนัดหมายเพื่อก่ออาชญากรรม
5.2 การทำหน้าเว็บไซต์ปลอมเป็นธนาคาร หรืออื่นๆ เพื่อให้ผู้หลงเชื่อกรอกรหัสผ่าน หรือข้อมูลสำคัญ
5.3 การหลอกหรือเชิญชวนด้วยถ้อยคำที่น่าสนใจและจำกัดเวลา เพื่อให้รีบโอนเงิน รีบคลิกลิ้งไปยังเว็บหรือแอพปลายทางที่ไม่ปลอดภัยต่อข้อมูล หรือติดตั้งโปรแกรมเพื่อขโมยข้อมูล หรือเข้ารหัสล็อคไฟล์ข้อมูล
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ผู้เขียนอยากเพิ่มประเด็นต่อไปนี้ให้อยู่ใน Social Engineering ด้วย
- ผู้ใช้สามารถสร้างได้หลายโปรไฟล์ เพื่อใช้โปรไฟล์อื่นแทนเมื่อกระทำความผิดเพื่อไม่ให้เชื่อมโยงมาถึงตน
- คน 1 คนอาจสร้างช่องทางการเผยแพร่จำนวนมากเพื่อใช้สร้างกระแสความนิยม โดยสร้างภาพให้เห็นว่ามีคนสนใจและมีส่วนร่วมกับ content จำนวนมาก แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังการ comment, like, subscribe, share อาจเกิดจากบุคคลเพียงไม่กี่คน เพียงแต่มี profile หลายอัน และเป็นการมีส่วนร่วมเฉพาะผู้มีความคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกันเพียงอย่างเดียว
- ผู้ใช้งานไม่กี่คนสามารถสร้างข่าวสารจำนวนมากหลายช่องทาง จนอาจทำให้มีผลทางจิตวิทยากับผู้บริโภคข่าวสารเข้าใจผิดคิดว่ามีองค์กร หรือผู้นำเสนอข่าวสารไปในทิศทางเดียวกันจำนวนหลายราย จนไขว้เขวได้ว่าข่าวสารนั้นเป็นข้อเท็จจริง
- ผู้ใช้ที่ถูกปิดกั้นจากการกระทำผิดสามารถสร้าง profile หรือ ช่องทางการเผยแพร่ขึ้นมาใหม่ได้เพราะการระบุตัวตนของ social media ไม่ได้อ้างอิงกับหลักฐานทางราชการที่เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำซึ่งไม่สามารสร้างขึ้นใหม่ได้ เช่นรหัสประชาชน รวมไปถึง Passport ID เป็นต้น
- การใช้ Social media ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ตนเอง ซึ่งผู้บริโภคสื่อ Social ควรมีความระมัดระวัง เพราะผู้ใช้รายอื่นๆสามารถตกแต่งภาพประจำตัวได้ และเขายังสามารถเลือกนำเสนอเฉพาะภาพลักษณ์ด้านดีของตนเองเพียงอย่างเดียว หรือข่าวสารที่ตนต้องการ ดังนั้นจึงต้องพิจารณาหรือตรวจสอบข้อมูลข่าวสารของบุคคลจากวิธีการอื่นประกอบด้วยเสมอ โดยเฉพาะวิธีแบบ offline เช่น การเดินทางไปสถานที่จริง(หากไม่มีอันตราย) การขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประวัติอาชญากรรม การสอบถามข้อมูลพฤติกรรมจากเพื่อนหรือบุคคลอ้างอิงของเจ้าของ Profile, การค้นข้อมูลจากหน่วยราชการ สถานศึกษา ข้อมูลผู้เสียภาษี หน่วยงานอาหารและยา
6. ปัญหา และความเสี่ยงของตัว Platform Social Media เอง
6.1 ผู้ให้บริการ เช่น Facebook, Youtube และอื่นๆมักมีการแก้ไขเพิ่มเติมกติกา ผู้ใช้งานควรศึกษากติกาอย่างต่อเนื่องว่าสิ่งใดทำได้ หรือไม่ได้
6.2 ผู้ให้บริการอาจใช้กรรมสิทธิ์ปิดกั้นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเสียเอง และการร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ใช้งานด้วยกันอาจไม่ได้รับการตอบสนองเนื่องจากผู้เขียนกฎหรือเจ้าของ Platform นั้นมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกับประเทศของผู้ใช้งานจึงอาจมองบางเรื่องที่เป็นปัญหาว่าไม่ใช่ปัญหา หรือบางเรื่องที่ไม่ใช่ปัญหากลับเป็นปัญหา
6.3 ข้อมูลส่วนบุคคลของเราถูกมอบให้ผู้ให้บริการจัดเก็บและใช้ประโยชน์โดยปริยายเพื่อแลกกับการใช้งานฟรี
6.4 ข้อมูลส่วนตัวถูกนำไปใช้ในทางการตลาดในขณะที่ผู้ใช้บริการยังคงต้องพบกับโฆษณาจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินเพื่อปิดกั้นโฆษณาเหล่านั้น
6.5 ข้อมูลของเราอาจมีความเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือถูกปิดกั้นหากการสื่อสารขัดข้อง มีภัยพิบัติ สงคราม หรือปัญหาการเมืองระหว่างประเทศอาจทำให้ข้อมูลของประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงควรทำการสำรองข้อมูลรูปภาพต่างๆหรือใช้สื่อสำรอง
6.6 การพึ่งพาการขายสินค้าผ่าน platform ของผู้ให้บริการรายใดเพียงรายเดียวอาจเกิดปัญหาความเสี่ยงต่อธุรกิจได้ในอนาคตเมื่อผู้ให้บริการมีการเปลี่ยนกติกา หรือค่าบริการโฆษณา หรือเมื่อเกิดปัญหาเช่นเดียวกับข้อ 6.5 อาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้ จึงควรเก็บข้อมูลการติดต่อกับลูกค้าหรือคู่ค้าในช่องทางอื่นๆด้วย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ หรือจดบันทึกที่อยู่ไว้ในสมุด และสร้างช่องทางการขายสำรอง
6.7 โปรดจำไว้ว่าผู้ให้บริการสารสนเทศหรือเจ้าของ platform นั้นอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศที่สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่จึงอาจมีการควบคุมสารสนเทศหรือข่าวสารบางอย่างภายใต้กฎหมายของประเทศดังกล่าว ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้งานในประเทศอื่น
6.8 Platform Social Media ไม่สามารถรับรองได้ว่าผู้โพส หรือผู้ส่งข้อความ Message ไม่ได้ถูกผู้อื่นสวมรอยเป็นตัวจริงในขณะเวลานั้น ซึ่งอาจเกิดจากผู้ใกล้ชิดทำการแทน หรือโทรศัพท์ของเจ้าของ Profile ตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ หรือถูกแอบ Login Account
6.9 การตั้งชื่อ Page, Channel, Profile สามารถทำได้อย่างอิสระโดยไม่มีคำสงวนหรือการร้องขอเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการปลอมตัวว่า Page, Channel หรือ Profile นั้นๆคือบุคคล หน่วยงาน บริษัท หรือองค์กรตามชื่อที่ปรากฎอย่างเป็นทางการ ซึ่งอาจเป็นผลเสียต่อสาธารณะในวงกว้างได้
ปัญหาในข้อ 6.8 และ 6.9 นั้นถือเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการตกเป็นเหยื่อของ Social Engineering ด้วย
6.10 Platform Social Media ไม่มีระบบการทำระบบแสดง Score คะแนน Comment หรือโพส หรือคะแนนจริยธรรมผู้ใช้งาน หรือแสดงความเชี่ยวชาญในหลักวิชาของผู้เขียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้อ่านประเมินคุณค่าสารสนเทศได้
กรณีปัญหานี้อาจทำให้ผู้อ่าน Comment อาจคิดไปว่า Comment เป็นของผู้เชียวชาญ หรือผู้มีวุฒิภาวะเข้ามาตอบ ซึ่งอาจเกิดความเชื่อไขว้เขวไปว่า Comment นั้นเกิดจากคนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นจึงควรเตือนตนเองไว้เสมอว่าคุณภาพของ Comment ทั้งหมดนั้นไม่ใช่การทำโพลตามหลักสถิติ และบางเรื่องต้องยึดความถูกต้องตามหลักวิชามากกว่าเชื่อถือตามแนวโน้มของ Comment
ข้อดีของ Social Media ก็มีเช่นกัน
- เป็นแหล่งรวบรวมเพื่อนไม่ให้สูญหาย และสามารถติดต่อได้ตลอดไป
- ทำความรู้จักกับผู้คนได้ง่าย
- เป็นแหล่งรวมความคิดเห็น
- เป็นสถานที่แสดงผลงาน
- เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้า
- สามารถลงโฆษณาได้ตรงกลุ่มเป้าหมายเนื่องจาก Social Media ได้เก็บข้อมูลความสนใจของผู้ใช้งานจำนวนมากและเเบ่งประเภทไว้แล้ว
- ขอความคิดเห็น หรือคำแนะนำจากคนจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น
- ค้นหา สอบถามวิธีใช้งาน หรือสั่งซื้อสินค้าหรือบริการได้
- เป็นช่องทางสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า
- สื่อสารปัญหาจากผู้อยู่ในเหตุการณ์ไปยังผู้เกี่ยวข้องได้ฉับไว เช่น ข้อมูลสถานที่เกิดภัยพิบัติ อุบัติเหตุ การตามหาคนหาย ขอความช่วยเหลือ
- สื่อดิจิทัลสามารถใช้เป็นหลักฐานในคดีต่างๆได้
- เป็นสื่อหรือแหล่งถ่ายทอดความรู้ หรือสารสนเทศที่มีในตัวบุคคลง่ายกว่าการใช้สิ่งพิมพ์วิทยุ โทรทัศน์
- เกิดชมรมออนไลน์ รวมกลุ่มคนที่สนใจเรื่องเดียวกัน จัดกลุ่มรับ-ส่งข่าวสารได้ตามความสนใจ เช่น Fanpage, Youtube channel, Facebook group, Line group.
- พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญได้ง่าย รับการถ่ายทอดประสบการณ์โดยตรง ทำให้ศึกษาสิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็ว
- เป็นจดหมายเหตุส่วนบุคคล หรือกลุ่มคน
- ช่วยสร้างความเป็นธรรมในสังคม เช่นทำให้ผู้เสียหายจากอาชญากรรมสามารถรวมกลุ่มกันได้ มีส่วนช่วยเปิดเผยข้อมูลปัญหาต่อสังคม ทำให้เกิดการช่วยกันตรวจสอบติดตามปัญหา ติดตามความคืบหน้าด้านความยุติธรรมโดยสาธารณชน
- ใช้ประเมินบุคลิกภาพ ความสนใจหรือทัศนคติของบุคคลได้
- สร้างความนิยมในเนื้อหา บุคคล หรือสินค้าได้ง่าย เพราะสามารถนำเสนอข้อมูลได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็สร้างความขัดแย้งได้ง่ายเช่นกัน
- เป็นช่องทางสื่อสารภายใน และภายนอกองค์กร
Copyright © All Right Reserved เนื้อหาและภาพในเว็บเพจนี้สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ห้ามคัดลอกโดยไม่ได้รับอนุญาต
ผู้เขียน : Vison Joysoongnoen (Information Scientist & IT Administration)
September 4, 2021